
วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชเป็นองค์กรทางด้านการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และคีตศิลป์ ได้ดำเนินการขอจัดตั้งครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๘ โดยนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอจัดตั้งวิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้ความเห็นว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากในภาคใต้จังหวัดหนึ่งโดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ไทย มีการติดต่อคมนาคมกับจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกและเป็นจังหวัดที่ยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน สมควรที่จะรักษาศิลปวัฒนธรรมให้ยั่งยืนและควรขยายการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านดุริยางค์ นาฎศิลปไทยและพื้นเมืองให้แพร่หลายมากขึ้น
นายแพทย์บุญสม มาร์ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ลงนามประกาศจัดตั้งวิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ โดยนายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้อนุมัติให้เปิด “วิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช” ในปีการศึกษา ๒๕๒๑ เปิดทำการสอนวันแรกในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ซึ่งต้องอาศัยอาคารเรียนพระปริยัติธรรม และอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นอาคารเรียนชั่วคราวเนื่องจากอาคารสถานที่ของวิทยาลัยฯ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างจนสามารถเข้าไปทำการเรียนการสอนในสถานที่ปัจจุบัน ณ บริเวณวัดโพธิ์ ( ร้าง ) หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓

๑. เพื่อกระจายการศึกษาศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ไทยให้แพร่หลายทั่วภาคใต้
๒. เพื่อส่งเสริมและธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปะพื้นเมืองอันมีค่าของภาคใต้ เช่น โนรา หนังตะลุง เพลงบอก กาหลอ เป็นต้น
๓. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ตลอดจนศิลปะพื้นเมืองภาคใต้ที่ถูกต้อง และเกิดความรักความหวงแหนศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ
๔. เพื่อผลิตศิลปิน บุคลากรทางด้านศิลปะและครูสอนศิลปะให้มีปริมาณเพียงพอ
๕. เพื่อให้เป็นแหล่งศูนย์กลางการเรียนรู้ในการอนุรักษ์ สืบทอด และให้บริการทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมในภาคใต้
ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้กรมศิลปากรแบ่งส่วนราชการใหม่ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบของสถานศึกษาในสังกัดกรมศิลปากรจากกองศิลปศึกษาเป็นสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ และได้โอนกรมศิลปากรจากกระทรวงศึกษาธิการมาอยู่ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมและจากประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา แบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีอำนาจหน้าที่
๑. จัดการศึกษาด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ทั้งไทยและสากล และศิลปวัฒนธรรม ในระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญา
๒. จัดการอบรม วิจัย ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง และให้บริการทางวิชาการด้าน ช่างศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล
๓. ทำนุบำรุง รักษา ฟื้นฟู และให้การศึกษาค้นคว้า ศิลปวัฒนธรรมด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยาคศิลป์ และคีตศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมทั้งการจัดการแสดงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม
๔. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
๕. ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายการพัฒนาองค์กร “วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช” ให้เป็นสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องกำหนดแผนงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และบทบัญญัติของการศึกษาแห่งชาติ ภายใต้ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และยุทธศาสตร์ โดยที่ทุกฝ่ายในองค์กรต้องให้ความร่วมมือและหาวิธีการที่เหมาะสมมาพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและทันต่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้องค์กรดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ มีแนวทางการพัฒนาองค์กรโดยปรับปรุงแผนกลยุทธ์ให้ทันต่อบริบทของสังคมอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ และเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนปฏิบัติงานประจำปี โครงการ และกิจกรรม ที่จะพัฒนาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด สามารถติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมุ่งเน้นให้แผนยุทธศาสตร์ เป็นไปตามกรอบกฎหมายในระบบการบริหารราชการภาครัฐแนวใหม่ ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการซึ่งประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ ๕ ประเด็น ดังนี้
๑. พัฒนาการจัดการศึกษาด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ทั้งระดับพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ที่มีคุณภาพและตามมาตรฐานชาติ
๒. ส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงานวิจัย งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม ด้านศิลปะการแสดงภาคใต้
๓. ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และสร้างเครือข่ายการบริการวิชาการด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้
๔. สืบสาน อนุรักษ์ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้
๕. พัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรให้ก้าวสู่วัฒนธรรมคุณภาพ

วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีบทบาทหน้าที่ อำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ ตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้สถาบันเป็นสถานศึกษา มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอน ทำการแสดง ทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ ทะนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ผลิตบุคลากรเฉพาะสาขาต่างๆได้รับใช้สังคมแบ่งเป็น ๓ ระดับ
๑. เป็นช่างฝีมือประณีตทางนาฏศิลป์ ดนตรี คีตศิลป์ ระดับผู้ปฏิบัติ
๒. เป็นครูระดับชำนาญที่สามารถถ่ายทอดศิลปะสาขาต่างๆ ได้
เป็นระดับผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะเป็นศิลปินในศิลปะสาขาต่างๆ และมีฝีมือเชี่ยวชาญเป็นระดับชาติ

๑. บำรุงรักษาและสืบทอดศิลปะวิทยาการทางนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์
๒. ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมทางนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและสังคม